THE MUREMBERG TRIALS พิพากษานาซี

THE MUREMBERG TRIALS พิพากษานาซี
คำนำสำนักพิมพ์
20 พฤศจิกายน ค.ศ.1945 คือวันแรกของการพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ซึ่งเป็นการพิจารณาคดีทางทหารที่ฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นผู้จัดตั้ง คดีนี้เป็นการตัดสินผู้กระทำความผิดอาญาสงครามของศาลทหารระหว่างประเทศ และถือเป็นคดีดัง เพราะจำเลยล้วนเป็นเจ้าหน้าที่นาซีระดับสูง 24 คน (แต่ผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังสงครามอย่าง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์, ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ และ โยเซฟ เกิบเบิลส์ นั้นชิงฆ่าตัวตายไปก่อนตั้งแต่เริ่มเห็นเค้าลางแห่งความพ่ายแพ้แล้ว โดยมีการตั้งข้อกล่าวหา 4 กระทง คือ
1. วางแผนสมคบคิดในการก่ออาชญากรรมต่อสันติภาพ
2. วางแผน ริเริ่มและก่อสงครามเพื่อการรุกรานดินแดน
3. อาชญากรรมสงคราม
4. อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
คดีใช้เวลาพิจารณา 11 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ.1945 ถึง 1 ตุลาคม ค.ศ.1946 จำเลยถูกตัดสินลงโทษแตกต่างกันออกไป ทั้งประหารชีวิตไปถึงจำคุก มีจำเลยบางคนได้ฆ่าตัวตายระหว่างการพิจารณาคดีและรอการลงโทษความผิดที่ดูหนักที่สุดในบรรดาความผิด 4 กระทง เห็นจะเป็นข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (ซึ่งข้อหานี้ถูกตั้งขึ้นครั้งแรกในการพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก) เมื่อนึกถึงโฮโลคอสต์ (the Holocaust) ผู้อ่านจะเห็นภาพซัดในข้อหานี้
เพราะเป็นเหตุการณ์อันเนื่องมาจากกลไกในนโยบายของรัฐ และเป็นความโหดร้ายป่าเถื่อนอันเกิดจากการกระทำผิดซึ่งแผ่ขยายออกเป็นวงกว้าง โดยที่รัฐเพิกเฉยกับการกระทำนั้น โฮโลคอสต์โดยนาซีในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ชาวยิวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชาวสลาฟโรมาเนีย นักคอมมิวนิสต์ เชลยศึกโซเวียต พลเรือนโปแลนด์ คู่แข่งทางการเมือง ไปจนถึงผู้พิการ ประมาณกันว่าจำนวนเหยื่อโฮโลคอสต์ครั้งนี้เกินสิบล้านคน กระนั้นก็ตาม คดีนูเรมเบิร์กก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการตัดสินโทษคำนึงถึงหลักการแห่งมนุษยธรรมและถูกต้องตามกระบวนการยุติธรรม เพียงใด ในโลกตะวันตกนั้นมีแนวคิดที่ว่าความโลภเป็นต้นเหตุให้มนุษย์ทำผิดบาป และถ้าใครคนใดคนหนึ่งกระทำความชั่ว นั่นคือเขาคิดมันขึ้นด้วยตัวเอง ซึ่งแนวคิดนี้ได้มองข้ามประเด็นที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กน้อยเรื่องหนึ่งไป นั่น ก็คือในบางสังคมอาจมีภาวะที่ก่อให้คนสามารถทำผิดบาป เพราะพวกเขาถูกทำให้ “คิดเองไม่ได้” (หรืออาจจะเรียกได้ว่า “คิดเองไม่เป็น”) และสิ่งที่พวกเขากระทำนั้นเกิดขึ้นเพราะการร่วมเป็นฟันเฟืองหนึ่งในกลไกภายใต้ระบอบรัฐ มีพลังอำนาจเหนือกว่าความเป็นปัจเจก-ระบอบนาซีเป็นเช่นนั้น เหล่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของนาซี คือ จักรกลมนุษย์ที่ทำงานตามกลไกของระบอบซึ่งก่อร่างสร้างมาจากสถาบันที่มีพลานุภาพ พวกเขาล้วนติดอยู่ภายใต้คำ ปฏิญาณตนต่อชาติและ “ท่านฟือเรอร์” ดังจะเห็นได้จากแถลงการณ์ที่แฮร์มันน์ เกอริง (ผู้นำระดับสูงของพรรคนาซี ได้ร่างไว้เพื่อนำขึ้นพูดในศาล แต่ถูกห้ามอ่าน ในฐานะจอมทัพหรือไรซ์สมาร์ชาล์ลแห่งจักรวรรดิไรซ์เยอรมันอันไพศาล ข้าพเจ้าพร้อมยอมรับผิดชอบทางการเมืองในกรณีที่ข้าฯ กระทำทุกประการ รวมทั้งการกระทำที่เป็นไปตามบัญชาของข้าฯ การกระทำดังกล่าวนั้นดำเนินไปเพื่อมุ่งหมายให้ปวงชนเยอรมันเกิดความผาสุก รวมทั้งยังเป็นสัตย์ปฏิญาณที่ข้าฯมี แก่ท่านฟือเรอร์ และการกระทำทั้งหมดที่เกิดขึ้นแล้วนั้น เป็นไปตามพันธะที่มีต่อปวงชนเยอรมัน และย่อมถูกตรวจสอบได้โดยศาลยุติธรรมเยอรมันเท่านั้น…การกลายเป็นปีศาจอาจเกิดขึ้นได้ในมนุษย์ทุกคนที่ต้องอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจรัฐที่เลวร้ายและตกอยู่ในภาวะถูกทำให้ “คิดเองไม่เป็น” อย่าว่าแต่คนที่อยู่ในระบอบนาซีเลย
The Nuremberg Trials เปรียบเหมือนสรุปสำนวนการไต่สวนซึ่งเอาผิดต่อผู้แพ้สงคราม ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสิ้นสุดการพิจารณาคดีบางแง่มุมจาก คำให้การหรืออากัปกิริยาของจำเลยที่เกิดขึ้นในศาลอาจทำให้เรามองเห็น ‘คุณธรรมสีเทา’ และอาจเข้าใจถึงความเป็นชายชาติทหารและการเป็นผู้ภักดีต่อชาติและผู้นำของผู้ต้องหา
อเล็กซานเดอร์ แมคโดนัลด์ เขียนหนังสือเล่มนี้ได้บรรยายเหตุการณ์ ภายในห้องพิจารณาคดีอย่างละเอียดเป็นฉากๆ และ ธนัย เจริญกุล ผู้แปล ได้ถ่ายทอดสำนวนคดีความออกมาเป็นภาษาไทยด้วยภาษาที่อ่านเข้าใจง่าย สำนักพิมพ์ยิปซีขอนำท่านผู้อ่านย้อนเวลากลับไปที่ศาลสถิตยุติธรรมเมืองนูเรมเบิร์ก ในวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ.1945 เวลา 10:00 น. เซอร์เจฟฟรีย์ ลอว์เรนซ์ โขกค้อนไม้ลงบนโต๊ะ ในฐานะประธานองค์คณะผู้พิพากษา เขาแถลงเปิดศาลว่า ‘การพิจารณาคดีที่จะเริ่ม ณ บัดนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นครั้งยิ่งใหญ่ ในประวัติศาสตร์ว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมโลก’ …
ด้วยมิตรภาพ สำนักพิมพ์ยิปซี

ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์