ศาสนาเปรียบเทียบ โดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียร พันธรังสี ราชบัณฑิต

ศาสนาเปรียบเทียบ โดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียร พันธรังสี ราชบัณฑิต
ถ้อยแถลง
ในบรรดานักปราชญ์ทางด้านศาสนาเปรียบเทียบแล้วนามของ ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียร พันธรังษี ราชบัณฑิต ย่อมยืนอยู่ในแถวหน้าของเมืองไทย ปรากฏในบทความของคุณสมาน สุตโต ว่า ศาสตราจารย์พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต อีกท่านหนึ่งได้กล่าวถึงคุณูปการของ ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียร พันธรังษี ราชบัณฑิต ว่าเป็นบุคคลที่ให้ความรู้ทางศาสนาเปรียบเทียบ พุทธศาสนามหายานแก่วงการนักศึกษาพุทธศาสนาอย่างประมาณค่ามิได้ และศาสตราจารย์พิเศษ อดิศักดิ์ ทองบุญ วิเคราะห์ประวัติและผลงาน ศาสตราจารย์พิเศษ เสถียร ว่าเป็นคนวัดที่มีหัวก้าวหน้า คิดนอกกรอบ มุ่งมั่นศึกษาทั้งในกรอบและนอกกรอบ จนได้รับยกย่องเป็นนักการศาสนาชั้นแนวหน้า เป็นนักพูด นักบรรยาย นักอภิปรายในเวทีต่าง ๆ เป็นอาจารย์พิเศษสอนศาสนาเปรียบเทียบ พุทธศาสนามหายาน ศาสนาโบราณในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เขียนหนังสือที่เป็นตำรา เอกสารการสอน หนังสืออ้างอิงทางวิชาการจำนวนมาก เป็นผู้มีใจรักงานหนังสือพิมพ์ จนได้รับยกย่องให้เป็นนักหนังสือพิมพ์ชั้นแนวหน้า เป็นนายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นผู้บุกเบิกร่างกฎเกณฑ์ด้านจริยธรรมของหนังสือพิมพ์และเป็นศาสตราจารย์พิเศษคนแรกของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังมีส่วนในการตั้งองค์กรศาสนาเพื่อสันติภาพโลกและรับเชิญเข้าประชุมอย่างต่อเนื่อง ยังมีผู้รู้ และนักปราชญ์อีกเป็นจำนวนมากที่กล่าวถึงคุณูประการที่ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียร พันธรังษี ราชบัณฑิต ได้ทำเอาไว้เมื่อครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งไม่จำเป็นต้องนำมายืนยันกันในที่นี่อีกแล้ว หากแต่สิ่งที่ควรบอกกล่าวและรับรู้กันนั่นคือ ในจำนวนผลงานอันมากมายของ ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียร พันธรังษี ราชบัณฑิต มีหนังสือเล่มหนึ่งที่วงการศึกษาเรื่องศาสนาให้คุณค่าอย่างสูง และหลายสถาบันใช้เป็นตำราหลักในการเรียนรู้เรื่องนี้ นั่นคือหนังสือที่ชื่อ “ศาสนาเปรียบเทียบ” ของศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียร พันธรังษี ราชบัณฑิต นั่นเอง ท่านผู้เขียนหนังสือ “ศาสนาเปรียบเทียบ” เล่มนี้ ได้กล่าวถึงเรื่องราวของศาสนาเปรียบเทียบเอาไว้ในคำนำในการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ครั้งแรกว่าวิทยาการว่าด้วยศาสนา เป็นวิทยาการพื้นฐานแห่งวิทยาการทั้งปวง ด้วยว่าวิทยาการทั้งปวงมีปัญญาและศรัทธาในศาสนาเป็นแดนเกิด การศึกษาศาสนา จึงเท่ากับเป็นการศึกษารากของวิทยาการทั้งสิ้น การศึกษามานุษยวิทยาและสังคมวิทยา จำเป็นต้องศึกษาเรื่องศาสนาของมนุษย์และสังคมนั้น ๆ ด้วย หากไม่นำพาเรื่องศาสนาในสังคมนั้น ๆ เสียแล้ว ก็ยากที่จะเข้าใจสังคมนั้นได้ เหมือนนายเรือหากไม่รู้จักทิศทางของลม คงยากที่จะพาเรือไปสู่ฝั่งได้ ข้อนี้ฉันใดปัจจุบันนี้มีหนังสือและตำราว่าด้วย “ศาสนาเปรียบเทียบ” ปรากฎออกมาให้นักอ่านและผู้สนใจ รวมถึงนักเรียนนักศึกษาได้ใช้เป็นคู่มือในการร่ำเรียน
มากมายหลายสำนวน หากแต่ในจำนวนมากนั้น หนังสือ “ศาสนาเปรียบเทียบ” ที่เขียนขึ้นโดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียร พันธรังษี ราชบัณฑิต ก็ยังถือเป็นหนึ่งในผลงานเล่มเอกที่ว่าด้วยเรื่องนี้อยู่ ที่ผ่านมา หนังสือ “ศาสนาเปรียบเทียบ” เล่มนี้ ห่างหายไปจากตลาดหนังสือนานพอสมควรแล้ว สำนักพิมพ์ศรีปัญญาจึงมีความคิดที่จะนำมาจัดพิมพ์ออกมาใหม่ เพื่อเสนอสนองต่อผู้อ่านที่สนใจในเรื่องราวด้านนี้อย่างจริงจังอีกครั้ง สำนักพิมพ์ศรีปัญญา ประกาศตัวเป็นผู้จัดพิมพ์หนังสืออันทรงค่า โดยเน้นและให้ความสำคัญกับหนังสือประเภท ประวัติศาสตร์ ปรัชญา ศาสนาและอื่น ๆ คัดสรรและเฟ้นหาต้นฉบับทั้งหนังสือเก่าและต้นฉบับใหม่ ๆ มานำเสนอผู้อ่านอย่างต่อเนื่อง และหนังสือ”ศาสนาเปรียบเทียบ” ของศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียร พันธรังษี ราชบัณฑิต ก็เป็นอีกหนึ่งในความภาคภูมิใจนั้น สำนักพิมพ์ศรีปัญญาหวังว่า นี่จะเป็นผลงานที่สร้างค่าและประโยชน์แก่วงการการศึกษาและให้ความรู้ทางศาสนาอีกเล่มหนึ่งที่ประทับตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้อ่าน
ด้วยความขอบพระคุณยิ่ง
สำนักพิมพ์ศรีปัญญา

ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์