ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติในกรอบอาเซียน
ในความหมายของคำว่า “ความมั่นคงแห่งชาติ” หมายถึง ความสามารถในการเอาชนะภัยคุกคามทั้งภัยคุกคามภายในและภัยคุกคามภายนอกที่มีผลต่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนและความอยู่รอดของชาติ ด้วยเหตุนี้ ความมั่นคงแห่งชาติ จึงมีมุมมองที่สำคัญ ๒ ด้านเสมอ ได้แก่ มุมมองต่อการเอาชนะภัยคุกคามภายในและมุมมองต่อการเอาชนะภัยคุกคามภายนอก มุมมองต่อการเอาชนะภัยคุกคามภายใน เป็นมุมมองที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน และความกินดีอยู่ดีของประชาชน อาทิ ความมั่นคงทางการเมืองภายใน ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางสังคมจิตวิทยา ความมั่นคงด้านอาหาร และความมั่นคงทางพลังงาน เป็นต้น ในส่วนของมุมมองต่อการเอาชนะภัยคุกคามภายนอกนั้น เป็นมุมมองที่เกี่ยวกับภัยคุกคามที่มีผลต่อความอยู่รอดของชาติ อาทิ ความมั่นคงทางการเมือง ความมั่นคงทางการทูต และความมั่นคงด้านการทหาร เป็นต้น ดังนั้น หากพิจารณาโดยรวมแล้ว ความมั่นคงแห่งชาติในด้านหลัก ๆ ที่เรามักได้ยินบ่อยครั้ง ก็คือ ความมั่นคงทางการมือง ความมั่นคทางทหาร ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางสังคมจิตวิทยา และความมั่นคงทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม สภาพของความมั่นคงแห่งชตาดังกล่าวมีลักษณะของนามธรรมสูง การที่จะบรรลุซึ่งความมั่นคงเหล่านี้ได้ จำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือแลวิธีการที่มีประสิทธิผล เครื่องมือที่นิยมใช้เพื่อการบรรลุผลสำเร็จของความมั่นคงเหล่านี้ก็คือ พลังอำนาจในด้านต่าง ๆ นั่นเอง อาทิ พลังอำนาจทางการมืองสำหรับความมั่นคงทางการเมือง พลังอำนาจทางทหารสำหรับความมั่นคงทางทหาร และพลังอำนาจทางเศรษฐกิจสำหรับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เป็นต้น ในขณะที่วิธีการที่นิยมใช้ ก็คือ การกำหนดยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติในด้านต่าง ๆ นั่นเอง เช่น ยุทธศาสตร์ด้านการเมืองและความมั่นคงสำหรับความมั่นคงทางการเมือง ยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศสำหรับความมั่นคงทางทหาร ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจสำหรับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เป็นต้น แน่นอนที่สุดว่าในแต่ละประเทศในอาเซียนย่อมมีสภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์และบริบทด้นความมั่นคงแห่งชาติที่แตกต่างกันและยุทธศาสตร์ที่แต่ละชาติกำหนดขึ้นนี้ก็ขึ้นอยู่กับมุมมอง ความจำเป็นและขีดความสามารถที่แต่ละชาติมีแตกต่างกันด้วย
หนังสือ “ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติในกรอบอาเซียน” ที่ได้จัดทำขึ้นนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติของประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน เนื้อหาที่ต้องการนำเสนอจึงเริ่มจากการศึกษาภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจบริบททางการเมือง การทหาร เศรษฐกิจและสังคมจิตวิทยาของแต่ประเทศ หลังจากนั้นจึงเข้าสู่เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ อันได้แก่ การกำหนดยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ บทวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ และผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติของไทย
กรมยุทธศึกษาทหารบก หวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์แก่กำลังพลของกองทัพบกและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดยุทธศาสตร์บ้างตามสมควร หลังจากที่ท่านได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว หากท่านมีคำถามหรือข้อเสนอแนะต่าง ๆ กรุณาแสดงความเห็นของท่าน ด้วยการติดต่อมายัง กองพัฒนายุทธศาสตร์ ศูนย์พัฒนาหลักนิยมและยุทธศาสตร์ กรมยุทธศึกษาทหารบก โทร. ๘๙๑๙๓ ได้โดยตรง