ถกเขมร

ถกเขมร
คำนำสำนักพิมพ์
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ท่านอาจารย์ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ชวนชาวคณะหนังสือพิมพ์สยามรัฐ อันประกอบด้วย คุณอบ ไชยวสุ (ฮิวเมอริสต์) คุณประยูร จรรยาวงศ์ (จรรย์) และคุณประหยัด ศ.นาคะนาท ไปเที่ยวเมืองเขมรหรือที่เรียกกันเป็นทางการว่ากัมพูชาในปัจจุบัน ท่านได้เขียนเล่าไว้ในบทเกริ่นของเล่มหนังสือเรื่อง “ถกเขมร” ตอนหนึ่งสรุปได้ว่าตัวท่านเองใคร่จะหลบจากความจอแจหรือพลุกพล่านของกรุงเทพฯ ไปเพื่อการพักผ่อนสักระยะหนึ่ง คุณอบ ไชยวสุ ก็จะหลบไปหาที่เงียบๆ เพื่อดื่มเหล้าให้สบายใจ ส่วนคุณประยูร จรรยาวงศ์นั้นเล่า เพื่อจะได้ไปดูหน้าตาคนแปลกๆ เอามาเขียนการ์ตูนตามแนวถนัด ยังส่วนคุณประหยัด ศ. นั้น มีความต้องการกว้างๆ เพียงเพื่อไปศึกษาสถานการณ์ต่างประเทศ อันอาจนำมาเป็นข้อมูลเขียนคอลัมนิสต์หรืออะไรทำนองนี้
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช พร้อมด้วยสหาย ๓ ท่าน ก็ชวนกันบินไปเขมรตามที่ตกลงกัน และเมื่อได้ไปตระเวนเมืองเขมรจนหนำใจแล้ว ต่างคนต่างได้ข้อมูลกันมาตามมากตามน้อย ในส่วนของอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านคงจะได้ข้อมูลมากกว่าใคร ๆ จึงได้นำเอาเรื่องไปเที่ยวเมืองเขมรมาเขียนเป็นหนังสือเล่มใหญ่ได้เล่มหนึ่ง ส่วนคุณประยูร จรรยาวงษ์ ก็ไม่ได้น้อยหน้า ได้เก็บภาพต่างๆ มาเขียนเป็นภาพประกอบหนังสือเรื่อง “ถกเขมร” ไว้ได้หลายภาพ แพรวพราวไปหมด ทำให้หนังสือเรื่อง “ถกเขมร” เล่มนี้ดูจะมีชีวิตชีวาอยู่มาก
หนังสือเรื่อง “ถกเขมร” ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช เล่มนี้ นอกจากจะมีภาพจากเมืองเขมร ซึ่งวาดโดยคุณประยูร จรรยาวงษ์ นักวาดภาพการ์ตูนฝีมือเอกที่ทำให้หนังสือเล่มนี้มีความน่ารักอยู่มากทีเดียว ในส่วนเนื้อเรื่องซึ่งเขียนโดยท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมชนั้นเล่าก็มีลีลาและลูกเล่นลูกชนหรือเขียนแบบทีเล่นทีจริง จึงน่าอ่านและชวนอ่านจนแทบจะวางไม่ลง เพราะสนุกสนานและมองเห็นสภาพเมืองเขมรเหมือนได้ไปเที่ยวมาเสียเองอย่างไรอย่างนั้น
หนังสือเรื่อง “ถกเขมร” ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เขียนแบ่งเป็นตอนๆ รวม ๑๐ ตอน ในแต่ละตอน ท่านได้สอดใส่ข้อคิดและอารมณ์สนุกสนานจนน่าอิจฉาว่า เราน่าจะได้ไปเที่ยวอย่างนั้นบ้าง สรุปได้ว่าหนังสือเรื่อง “ถกเขมร” แม้จะเป็นหนังสือประเภทท่องเที่ยวและเกาะติดกาลเวลา แต่จนถึงวันนี้แม้เหตุการณ์ สภาพบ้านเมือง และผู้คน หรือสังคมเมืองเขมร จะได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว แต่หนังสือเล่มนี้ก็ยังคงน่าอ่าน และอ่านได้อย่างสนุกสนานจริง ๆ
สำนักพิมพ์ดอกหญ้า ๒๐๐๐ ขอนำเสนอผลงานเก่าของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช สู่ท่านผู้อ่านอีกเล่มหนึ่ง ซึ่งหวังว่าคงจะเป็นที่พอใจโดยทั่วกัน
ขอได้รับความปรารถนาดี
สำนักพิมพ์ดอกหญ้า ๒๐๐๐

ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์