ชีวิตของประเทศ
คนเราเกิดมามีความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นธรรมดาตามหลักที่ว่าสรรพสิ่งย่อมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป และในท่ามกลางของชีวิตนั้นยังจะประสบความสุข ลาภ ยศ สรรเสริญ หรือความทุกข์ การเสื่อมลาภ เสื่อมยศ และการถูกนินทาแทรกเข้ามาได้อีกด้วยดังที่เรียกว่าโลกรรมหรือธรรมดาของโลก ดังนั้นถ้าไม่มีอะไรมาประดับประคองร่างกายและจิตใจไว้ก็ยากที่จะดำรงชีพอยู่ได้เป็นปกติร่างกายของแต่ละคนประกอบด้วยอวัยวะดังที่เรียกว่าอาการ ๓๒ แต่ละอย่างต่างก็มีหน้าที่ของตน และต้องทำงนให้ประสานสอดคล้องรองรับกันอย่างถูกจังหวะและต่อเนื่อง นับเป็นกลไกธรรมชาติที่มหัศจรรย์ ถ้าอวัยวะเหล่านี้เกี่ยงงอนเหมือนในนิทานที่ว่าครั้งหนึ่งอวัยวะดังกล่าวเกิดจะประชันขันแข่งกันว่าอะไรสำคัญกว่ากัน วันหนึ่งมือจึงไม่ยอมจับช้อนตักอาหารเข้าปากเพราะถูกหาว่าเอาแต่กิน ฝ่ายเท้าก็งอนเพราะถูกหยามว่าต่ำต้อยจึงไม่ยอมออกก้าวเดิน ตาไม่ยอมดู หูไม่ยอมฟัง กระเพาะไม่ยอมย่อยอหาร จนกระทั่งหัวใจซึ่งถูกหาว่าตัวเท่ากำปั้นแต่ทำเป็นกร่างคุมหมดตั้งแต่หัวจรดเท้าจึงไม่ยอมเต้น ในที่สุดเจ้าของร่างกายนั้นก็สิ้นชีวิต อวัยวะใดก็อยู่ไม่ได้
ประเทศชาติเป็นเหมือนร่างกาย จึงย่อมมีโลกธรรมคือ สุข ทุกข์ ความเจริญ ความเสื่อมเข้าครอบงำเป็นธรรมดา ประเทศประกอบด้วยผู้คนทั้งหลายนับแต่ผู้ปกครอง เช่น พระราชมหากษัตริย์ อำมาตย์มนตรี ขุนนาง ทหาร เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ ชาวสวน ชาวไร่ ชาวสวน ชาวประมง พ่อค้า ผู้มีอาชีพต่าง ๆ กัน จนกระทั่งถึงกรรมกรแบกหาม คนสิ้นไร้ไม้ตอก ยาจกเข็ญใจ ผู้คนเหล่านี้เป็นดุจอวัยวะของร่างกายที่แยกกันทำหน้าที่ต่าง ๆ สำคัญบ้าง ไม่สำคัญบ้าง แต่ก็ต้องประสานสอดคล้องกันจะเกี่ยงงอนหน้าที่ไม่ได้ ขณะเดียวกันร่างกายคนเราจะมีแต่อวัยวะยังไม่พอ หากแต่ต้องมีสิ่งประดับประคองร่างกายและจิตใจหรืออาภรณ์นุ่งห่มเครื่องพิมพาภรณ์ประดับให้พอดูงามตามสมควรฉันใด ประเทศชาติก็ต้องมีพิธีการต่าง ๆ มีศิลปวัฒนธรรม ความจำเริญรุ่งเรื่องทางวรรณศิลป์ ตริยางคศิลป์ นาฏศิลป์ละเมียดละไมในการกินการอยู่ การแต่งกาย ระเบียบแบบแผนในการพูดและมีเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เพื่อสร้างความชุ่มชื่นรื่นรมย์และรังสรรค์ความสง่า อลังการด้วย ฉันนั้นธรรมชาติ ป่าเขาลำเนาไพร สัตว์ป่า พืชพันธุ์ธัญญาหาร แม่น้ำลำคลอง ที่เรียกว่าสิ่งแวดล้อมก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยยังชีวิตของประเทศให้ดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค อันล้วน
ประชุมคุมเข้าด้วยกันเป็นชีวิตของประเทศดุจอวัยวะที่ไม่อาจแยกส่วนออกจากกันได้ และดุจเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจที่สร้างความบันเทิงเริงรมย์และความสง่า อลังการดังกล่าวรวมความแล้วนี่คือชีวิตของประเทศ เมื่อกล่าวถึงแม่น้ำซึ่งเป็นดุจเส้นเลือดของประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยมีพระราชดำรัสถึงแม่น้ำเจ้าพระยาในการเสด็จออกมหาสมาคมเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิตาลัย เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๒๙ ตอนหนึ่งว่า
“แม่น้ำเจ้าพระยาไม่ใช่ก้อนน้ำเดียวกัน…คนเราถ้าหากว่าจะทำหน้าที่อยู่อย่างเดียวตลอดไปก็ไม่สามารถจะทำ วันหนึ่งก็ต้องแก่ตายจริง ๆ ฉะนั้นก็ต้องมี
การทดแทนกันให้ต่อเนื่อง ให้มีการต่อเนื่องของงานการที่เหมาะสมเช่นเดียวกับน้ำที่ต่อเนื่องกันเพื่อให้แม่น้ำจ้าพระยาไหลเป็นชีวิตของประเทศ ถ้าหากว่าทำเช่นนั้นด้วยความรู้ ด้วยความสามารถที่จะรู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร ส่วนรวมของเราก็จะอยู่ได้ต่อไป อาจจะเกือบไม่นับกาลเวลาได้” พระราชดำรัสนี้ทรงอุปมาแม่น้ำเจ้าพระยาว่าเป็นชีวิตของประเทศ คำสำคัญอื่น ๆ ในพระราชดำรัสนี้ คือ “ต้องมีการทดแทนกัน” “หมีการต่อเนื่องกัน” และ
“อยู่ได้ต่อไป” ซึ่งชวนให้คิดได้วนี่คือกระบวนการเคลื่อนไหวแห่งชีวิตของประเทศอีกประการหนึ่งนั่นเอง ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๑ ยังได้มีพระราชดำรัสอีกด้วยว่า “คนไทยรักษาชาติรักษาแผ่นดินให้มั่นคงเป็นปึกแผ่นมาได้ด้วยสติปัญญาความสามารถ ด้วยความรักชาติ และด้วยคุณความดี อิสรภาพ ความร่มเย็นเป็นสุข ตลอดจนคุณธรรมความเจริญทุกอย่างที่มีอยู่บัดนี้” “การรักษาชาติรักษาแผ่นดินให้มั่นคงเป็นปึกแผ่น” เปรียบได้กับการรักษา
ชีวิตของประเทศ สิ่งที่น่าสนใจคือสติปัญญา ความสามารถ ความรักชาติ ความดี อิสรภาพ ความร่มเย็นเป็นสุขและคุณธรรมความเจริญอันเป็นเครื่องรักษาชีวิตของประเทศเช่นว่านั้นหมายถึงอะไร หนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนจินตนาการขึ้นโดยอาศัยประวัติศาสตร์ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์เป็นฉาก บางส่วนใช้เรื่องราวจากที่บันทึกไว้ในพงศาวดารฉบับต่าง ๆ ของไทย บางส่วนเป็นประวัติศาสตร์จากบันทึกของชาวต่างประเทศ บางส่วนเป็นเรื่องที่เล่าใหม่ ในวงผู้เกี่ยวข้องดังที่เรียกว่าพงศาวดารกระซิบ และได้รับเกร็ดความรู้จากผู้ใหญ่อีกหลายคน เกี่ยวกับสกุลวงศ์ของผู้คนมากหน้าหลายตา ซึ่งทำคุณงาม
ความดีแก่แผ่นดิน เรื่องราวเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของประเทศที่เกิดขึ้นและดำเนินไป ณ สองฝั่งแม่น้ำจ้าพระยา ในการเดินเรื่องได้สมมุติให้มีตัวละครขึ้นในเหตุการณ์และฉากประวัติศาสตร์จริงเหล่านั้น เพื่ออุดช่องร่องรอยที่ขาดหายไป และเพื่อดำเนินเรื่องให้ต่อเนื่อง โดยจับความตั้งแต่ช่วงเวลาก่อนการสถาปนากรุงเทพมหานคร จนถึงการสถาปนพระมหานครใน พ.ศ. ๒๓๒๕ ซึ่งเป็นการต่อชีวิตของประเทศทดแทนของเดิมให้ยืนยาวต่อเนื่อง และเป็นการเริ่มบ้านเมืองใหม่ พระบรมราชวงศ์ใหม่ พระมหากษัตริย์รัชกาลใหม่ ธรรมเนียมใหม่ ชีวิตใหม่ เรื่องราวดำเนินไปจนกระทั่งถึงต้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นการคืบคลานเข้ามาของคลื่นความคิดใหม่และธรรมเนียมการปกครองใหม่กว่าเดิมอีกระลอกหนึ่งจนผู้มีชีวิตก่อนหน้านั้นซึ่งเคยเป็นคนยุคใหม่กลายเป็นคนตกยุคเพราะมี “คนยุคใหม่กว่า” เข้ามาทดแทนเสียแล้ว รวมระยะเวลาช่วงนี้ประมาณ ๑๐๐ ปี หรือศตวรรษแรกของอายุพระมหานคร หนังสือเรื่องนี้ตั้งใจจะให้ผู้อ่านรู้จักเรื่องราวในช่วงเวลาดังกล่าว โดยได้แรงบันดาลใจจากพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ใน พ.ศ.๒๕๕๑ ที่ว่าคนไทยควรสนใจประวัติศาสตร์ไทยให้มากขึ้น แต่เพื่อเลี่ยงไม่ให้เป็นตำราประวัติศาสตร์ เพราะผู้เขียนเองก็ไม่มีสติปัญญาจะทำอย่างนั้นได้ ทั้งเหตุการณ์บางเรื่องในประวัติศาสตร์ไทยก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่ผู้รู้ว่าเรื่องราวแท้จริงเป็นฉันใด ซึ่งพ้นปัญญาของผู้เขียนที่จะถกเถียงด้วย จึงได้ดัดแปลงส่วนที่ไม่เกี่ยวกับบุคคลผู้มีชื่อในประวัติศาสตร์ให้อยู่ในรูปแบบของนิยาย ซึ่งจะเอา “นิยมนิยาย” สมบูรณ์มากนักไม่ได้ แต่ก็ไม่ถึงขนาด “บิดเบือนประวัติศาสตร์” ถ้าจะไม่เนียนก็เป็นความบกพร่องของผู้เขียนเอง เพราะความเป็นมือใหม่หัดเขียนจึงทำได้แค่นี้