ความรู้ฉบับพกพา GLOBAL ECONOMIC HISTORY ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก

ความรู้ฉบับพกพา GLOBAL ECONOMIC HISTORY ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก
คำนำผู้แปล
แม้จะได้ชื่อว่าเป็น “วิชาประวัติศาสตร์” แต่หากจะนับคู่แข่งทางวิชาการแล้ว “ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ” อาจจัดประเภท แบบหลวมๆ ว่าเป็น “เศรษฐศาสตร์กระแสรอง” แบบหนึ่งที่มุ่งผลิตคำอธิบายว่าด้วยความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเพื่อแข่งขันกับคำอธิบายของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก โดยความแตกต่างสำคัญขององค์ความรู้ทั้งสองแบบคือ นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจพยายามศึกษาเหตุแห่งความมั่งคั่งของชาติผ่านพลวัตการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์เป็นสำคัญ ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ค้นหาเหตุแห่งความมั่งคั่งนี้ผ่านทฤษฎีการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้อิงกับบริบทเวลา
นักประวัติศาสตร์เศรษ{กิจมักวิจารณ์ว่า นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำที่เข้าไปทำงานทั้งในบริษัทเอกชนและหน่วยงานด้านนโยบายของรัฐส่วนใหญ่มีโลกทัศน์ที่แคบ และแทบไม่มีความรู้เลยว่าระบบเศรษฐกิจจริงทำงานอย่างไร นักเศรษฐศาสตร์ชอบหลับหูหลับตาผลักดันนโยบายตามที่ทฤษฎีว่าไว้ แต่ไม่เคยย้อนดูเลยว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา นโยบายที่พวกเขานำเสนอส่งผลลัพธ์อย่างไร
ล่าสุดเมื่อวิกฤตการเงินปะทุในปี 2008 นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจชั้นนำหลายคนออกมากล่าวโทษอวิชชาทางประวัติศาสตร์ของนักเศรษฐศาสตร์ว่าเป็นต้นตอสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตนั้น รวมถึงทำให้การจัดการวิกฤตล้มเหลว
พร้อมกันนี้พวกเขายังเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเรียนการสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัยให้มีการสอน
วิชาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจในหลักสูตรด้วย ยิ่งในยุดสมัยที่เทคโนโลยีเข้ามา “ป่วน” (disrupt) ชีวิตผู้คนในทุกมิติ ความ
เหลื่อมล้ำลุกลามและโลกาภิวัตน์ถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ
การอ่านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจยิ่งมีความสำคัญ เพราะหัวข้อเหล่านี้เป็นหัวข้อที่นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจชำนาญและ
ถกเถียงกันมากที่สุด ในฐานะที่เป็นผู้ศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ผู้แปลเห็นว่านักเศรษฐศาสตร์มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจควบคู่ไปกับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นกิจกรรมที่มีพลวัดสูง อีกทั้งยังเกิดขึ้นในเงื่อนไขของพื้นที่และเวลาที่เฉพาะเจาะจง การพยายามทำความเข้าใจเศรษฐกิจด้วยทฤษฎีล้วนๆ โดย “สมมติให้ทุกอย่างคงที่” จึงมีโอกาสผิดพลาดอยู่มาก
ข้อเด่นของวิชาเศรษฐศาสตร์คือการให้ความสำคัญกับตัวแปรเชิงเศรษฐกิจ แต่ข้อเด่นกลับกลายเป็นข้อด้อย เพราะใน
ความเป็นจริงแล้ว กระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจไม่ได้เป็นเพียงปฏิสัมพันธ์ของตัวแปรเชิงเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงตัวแปรอื่นๆ ที่ไม่ใช่เชิงเศรษฐกิจด้วย ไม่ว่าจะเป็นตัวแปรเชิงการเมือง สถาบัน วัฒนธรรม เป็นต้น กล่าวคือ การศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจจะช่วยหนุนเสริมให้ผู้ศึกษาเศรษฐศาสตร์เห็นว่า ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ตนเองเรียนมานั้นสมเหตุสมผลและสัมพันธ์กับโลกแห่งความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้การศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจยังช่วยให้เราเห็นความซับซ้อนของโลก ไม่ตีขลุมลดทอนจนเกินไปและตระหนักอยู่เสมอว่าชุดคำอธิบายแต่ละชุดมีข้อจำกัดในตัวเอง
คำอธิบายเหตุการณ์หนึ่งๆ อาจไม่สามารถใช้อธิบายเหตุการณ์ในโลกจริงได้ทั้งหมด การเปิดกว้างยอมรับความจริงที่หลากหลายเป็นสิ่งจำเป็นไม่ใช่เฉพาะในโลกวิซาการเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงการใช้ชีวิตจริงด้วย เมื่อครั้งที่ผู้แปลทั้งสองได้มีโอกาสศึกษาปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ที่มหาวิทยาลัยลุนด์ ประเทศสวีเดน พวกเราได้รู้จักชื่อ โรเบิร์ต ซี. อัลเลน เป็นครั้งแรก เมื่อหนังสือ The British Industrial Revolution in Global Perspective (การปฏิวัติอุตสาหกรรมของอังกฤษในมุมมองระดับโลก) ของเขาเป็นหนึ่งในหนังสือเล่มหลักที่ใช้ประกอบวิชาเรียน อาจารย์ของพวกเราพูดถึงหนังสือเล่มดังกล่าวว่า แม้จะเป็นหนังสือเพิ่งออกใหม่ (ในปี 2009) แต่ก็ทรงอิทธิพลอย่างมากในวงวิชาการประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ เมื่ออ่านจบพวกเราเห็นตรงกันว่าอัลเลนเป็นนักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจที่เขียนหนังสืออ่านง่าย สนุก มีคำอธิบายที่ทรงพลัง รวมถึงผ่านการค้นคว้าเอกสารและข้อมูลทางประวัติศาสตร์อย่างละเอียด รอบด้าน มีน้ำหนัก และน่าเชื่อถือ
กล่าวสำหรับหนังสือ ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก:ความรู้ฉบับพกพา (Global Economic History: A Very Short
Introduction) อัลเลนยังรักษามาตรฐานการเขียนได้อย่างยอดเยี่ยม ทั้งในแง่ของการอ่านง่าย คำอธิบายที่ทรงพลัง และ
ความรอบด้าน แต่ด้วยข้อจำกัดของการเป็นความรู้ฉบับพกพา อัลเลนอาจไม่ได้ให้รายละเอียดและข้อมูลทางประวัติศาสตร์มากนัก ผู้อ่านค้นคว้ารายละเอียดเพิ่มเติมเหล่านี้ได้จากงานเขียนในส่วน “แหล่งอ้างอิง” และ “อ่านเพิ่มเติม” ของหนังสือเล่มนี้ ในแง่เนื้อหาอัลเลนได้นำข้อเสนอว่าด้วย “โครงสร้างราคาค่าจ้างต่อทุนที่ทำให้สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ สามารถทำกำไรได้” ซึ่งเป็นข้อเสนอหลักในหนังสือของเขามาเป็นพื้นฐานในการเขียนประวัติศาสตร์เศรษฐกิจในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม (สามบทแรก) และได้พยายามต่อยอดแนวคิดนี้รวมถึงแทรกข้อเสนอของเขาในบทต่อๆ ไป ในส่วนหลัง แม้อัลเลนจะแทรกคำอธิบายที่อยู่บนพื้นฐานความคิดของตัวเอง ทว่าเขาก็ได้รวบรวมคำอธิบายจากแง่มุมที่หลากหลาย โดยไม่ได้ให้น้ำหนักกับคำอธิบายของตัวเองมากจนเกินพอดี แม้จะรวบรวมคำอธิบายไว้จำนวนไม่น้อย แต่สิ่งที่ต้องตระหนักคือ คำอธิบายและแนวคิดที่อัลเลนเลือกนำมาใช้ในหนังสือเล่มนี้ยังไม่ครอบคลุมความคิดสำคัญทั้งหมด อาจจะด้วยข้อจำกัดของความเป็นหนังสือความรู้ฉบับพกพาหรือข้อจำกัดอื่นใด กระนั้นผู้แปลเชื่อว่าเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบ ผู้อ่านจะเข้าใจประวัติศาสตร์และเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ต่างๆ ของโลกในเบื้องต้น และหวังว่าเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ Global Economlc History จะเป็นกุญแจเปิดประตูไปสู่พรมแดนความรู้ด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจในเชิงลึกต่อไป
สุดท้ายนี้ ผู้แปลขอขอบคุณสำนักพิมพ์ bookscape ที่จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ โดยเฉพาะอาจารย์ปกป้อง จันวิทย์
และวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรื่อง ที่เปิดโอกาสให้นักแปลหน้าใหม่อย่างเราทั้งสองได้มีโอกาสแปลหนังสือเล่มนี้ ทั้งต้องขอบคุณ
ฐณฐ จินดานนท์ บรรณาธิการเล่มที่มีความอุตสาหะยิ่งในการตรวจแก้ตันฉบับให้ถูกต้องและเป็นมิตรกับผู้อ่านมากยิ่งขึ้น
คงไม่ต้องเอ่ยว่าความด้อยประสบการณ์ย่อมทำให้เกิดปัญหาในการทำงานอยู่บ้างไม่มากก็น้อย หากประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก: ความรู้ฉบับพกพา เล่มนี้มีข้อผิดพลาดประการใด ย่อมเป็นความรับผิดชอบของผู้แปลทั้งสองแต่เพียงเท่านั้น
ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์
สมคิด พุทธศรี

ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์