ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
คำนำ
หนังสือ “ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔” เป็นหนังสือรวบรวม “ประกาศ” ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสสั่งให้ประกาศ นับแต่ปี ๒๓๙๗ ซึ่งเป็นปีแรกใน ๑๗ ปีที่พระองค์ครองราชสมบัติ มาจนถึงปี ๒๔๑๑ อันเป็นปีที่พระองค์เสด็จสวรรคต
“ประกาศ” เหล่านี้ นอกจากจะเป็นเสมือนกฎหมายที่ออกประกาศใช้โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเวลานั้นแล้ว อีกด้านหนึ่งยังสะท้อนภาพ “ตัวตน” ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และยุคสมัยนั้นอย่างชัดเจน แม้ว่าประกาศเหล่านี้จะมีอาลักษณ์หรือขุนนางเป็นผู้รับพระราชดำรัส พระบรมราชโองการ ทำการร่างประกาศ จากนั้นพระองค์จะทรงทำการตรวจร่างและตรวจแก้ไขก่อนจะนำไปประกาศใช้อีกชั้นหนึ่ง
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้ทรงรวบรวมนำเอาคำประกาศเหล่านี้มาจัดพิมพ์ออกเป็นหนังสือในรูปเล่มครั้งแรกๆ ได้ทรงกล่าวว่าเป็นพระราชนิพนธ์เองโดยมาก ดังนั้นจึงเชื่อได้ว่านี้คือภาษาและความคิดของพระองค์อย่างแท้จริง
ไม่เพียงเท่านั้น พระราชนิพนธ์นี้ยังสะท้อนให้เห็นแบบแผนการปกครองของพระองค์ที่มีในรัชสมัยนั้นได้อย่างดียิ่งทั้งนี้เพราะนอกเหนือจากคำสั่งห้ามปรามราษฎรบางเรื่องและบางเมืองแล้ว ยังมีประกาศที่เกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนพระองค์ ทั้งเรื่องภายในราชสำนัก เรื่องฝ่ายใน เรื่องเจ้านายและราชวงศ์ เป็นต้น อีกทั้งด้วยการแพร่กระจายของประกาศก็ดูเหมือนจะกว้างขวางกว่าระเบียบแบบแผนการกระจายข่าวสารอย่างในสมัยก่อนเก่าที่วิทยาการการเขียนและการพิมพ์ยังไม่กว้างขวางและสุดท้าย เนื้อหาที่ปรากฎภายในประกาศเหล่านี้ บางด้านเปรียบเสมือนแบบอย่างหรือแบบเรียนเรื่องราวขององค์ความรู้ในหลายเรื่องหลายราวที่เป็นประโยชน์ต่อชนรุ่นหลังอีกจำนวนมากที่ผ่านมา การจัดพิมพ์ “คำประกาศรัชกาลที่ ๔” ถูกแยกจัดพิมพ์ออกมา โดยการจัดสรรออกเป็นภาค โดยเรียงลำดับตามปี คือ ปี ๒๓๙๔ ถึงปี ๒๓๙๖ เป็นภาคที่ ๑, ปี ๒๓๙๗ ถึงปี ๒๓๙๘ เป็นภาคที่ ๒, ปี ๒๓๙๙ ถึงปี ๒๔๐๐ เป็นภาคที่ ๓, ประกาศ ปี ๒๔๐๑ เป็นภาคที่ ๔, ประกาศปี ๒๔๐๒ ถึงปี ๒๔๐๔ เป็นภาค ๕, ประกาศปี ๒๔๐๕ ถึงปี ๒๔๐๗ เป็นภาคที่ ๖, ประกาศปี ๒๔๐๘ ถึงปี ๒๔๑๑ เป็นภาคที่ ๗ และยังมีภาคปกิณกะอีก ๒ ส่วน ซึ่งพบและนำมาจัดพิมพ์ใหม่ในภายหลัง และบางประกาศก็ไม่
ทราบปีที่ออกประกาศนั้น นับเป็นภาคปกิณกะ โดยผู้ที่ทรงรวบรวม “ประกาศ” เหล่านี้คือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และได้นำออกมาให้มีการตีพิมพ์ตามวาระต่างๆ แบ่งเป็นภาคฯ ไป
ในเวลาต่อมาคือปี ๒๕๔๘ ได้มีการนำประกาศรัชกาลที่ ๔ ทุกภาคมารวมจัดพิมพ์เป็นเล่มออกมาในนาม “ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔” เป็นครั้งแรก โดยมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ โดยมีชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นบรรณาธิการ โดยมีเป้าหมายเพื่อคงรักษาตันฉบับและเนื้อหาของคำประกาศรัชกาลที่ ๔ ให้เป็นเอกสารที่สามารถนำมาศึกษาและเรียนรู้เพื่อการต่อยอดทางการศึกษาในวิชาประวัติศาสตร์ต่อไป
สำนักพิมพ์ศรีปัญญา มีเข็มมุ่งในเรื่องการอนุรักษ์หนังสือและเอกสารอันทรงค่าเท่าเอาไว้ เห็นว่าหนังสือเล่มนี้ไม่มีจำหน่ายในท้องตลาด และมองว่ามีนักศึกษาและผู้สนใจแสวงหาหนังสือเล่มนี้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์กันอีกมาก จึงมีดำริกันว่า น่าจะนำกลับมาจัดพิมพ์ใหม่กันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ประชาชนในวงกว้างที่สนใจได้นำไปใช้ศึกษาหาความรู้ โดยคงจัดพิมพ์ตามฉบับเก่าที่เคยจัดแบ่งพิมพ์เป็นภาคเอาไว้ ในการจัดพิมพ์ใหม่ในครั้งนี้ ทางสำนักพิมพ์ไม่ได้ทำการแก้ไขเนื้อหา
แต่อย่างใด เป็นแต่แปลงอักขระบางตัวให้ง่ายต่อการศึกษาและการอ่านให้ร่วมสมัยมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจเนื้อหาได้สะดวกมากยิ่งขึ้นอันจะเป็นประโยชน์ที่แท้จริงในด้านการศึกษาต่อไป
สำนักพิมพ์ศรีปัญญาหวังใจว่า ในการจัดพิมพ์หนังสือ “ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔” ครั้งนี้จะยังประโยชน์ต่อผู้ศึกษาและสนใจทั้งในด้านประวัติศาสตร์และวรรณกรรม วรรณคดีของไทยได้อย่างดียิ่งขึ้น
ด้วยจิตคารวะ
สำนักพิมพ์ศรีปัญญา

ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์