ปราสาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คำนำ
ปราสาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ผู้เขียนได้รับความรู้เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมอินเดียที่มีอิทธิพลต่อตะวันออกเฉียงใต้มาตั้งแต่เรียนอยู่กับศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล อาจารย์สมิทธิ ศิริภัทร์ ในระดับปริญญาตรีที่คณะโบราณคดี ต่อมาเมื่อได้รับทุนพระราชทานจากมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ให้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดียที่สถาบันพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (National Museum Institute) กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๔๖-๒๕๔๙ ผู้เขียนได้รับการถ่ายทอดทางด้านสถาปัตยกรรมอินเดียอย่างลึกซึ้งจากศาสตราจารย์ ดร. ปารุล ปาณฑยะธรร ผู้ที่เรียนมาโดยตรงจากศาสตราจารย์ เอ็ม. เอ. ธากี นักวิชาการทางด้านสถาปัตยกรรมอินเดียที่มีชื่อเสียงที่สุด
การเรียนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะที่อินเดีย ทำให้พบว่าสถาปัตยกรรมซ้อนชั้นหรือที่เรียกว่า “ปราสาท” ในศิลปะอินเดียน่าจะนำมาใช้ในการศึกษาวิจัยปราสาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ เมื่อผู้เขียนกลับมาทำหน้าที่เป็นอาจารย์ด้านศิลปะอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่คณะโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากร จึงได้นำเอาความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากอินเดียผสานกับความรู้จากการวิจัยเพื่อสอนนักศึกษาตลอด ๑๕ ปี
ปัญหาสำคัญที่ค้นพบก็คือ แม้จะมีการเผยแพร่งานวิจัยเรื่อง “อาคารทรงศิขระ-วิมานในศิลปะอินเดียกับอิทธิพลต่อศิลปะในเอเชียอาคเนย์” แต่ความยากของคำศัพท์เฉพาะ ความซับซ้อนขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความกว้างขวางของพื้นที่ศึกษาและระยะเวลา ฯลฯ ทำให้นักศึกษาและผู้สนใจไม่อาจจะเข้าใจได้ง่ายนักด้วยเหตุที่บรรณพิภพยังขาดหนังสือที่แนะนำหรือให้ความเข้าใจพื้นฐานของปราสาทในศิลปะอินเดียที่มีผลต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในแต่ละพื้นที่
ผู้เขียนจึงได้เขียนหนังสือ ปราสาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เล่มนี้ขึ้นโดยใช้คำอธิบายอย่างง่าย ๆ ด้วยเนื้อหากระชับ นำเสนอใดยแยกพื้นที่ที่ตั้งของงานสถาปัตยกรรมอย่างชัดเจน และใช้ภาพประกอบอย่างละเอียดในทุกประเด็น
คาดหวังว่าผู้อ่านจะได้รับความรู้ความเข้าใจ และสามารถสังเกตสิ่งต่าง ๆ ในหนังสือเล่มนี้ไปใช้ในการแยกแยะสถาปัตยกรรมที่เรียกว่าปราสาทในศิลปะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในแต่ละพื้นที่ รวมถึงนำความรู้ไปใช้ต่อยอดการศึกษาปราสาทในศิลปะอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขั้นสูงต่อไป
ศาสตราจารย์ ดร. เชษฐ์ ติงสัญชลี
ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
ตุลาคม ๒๕๖๔

ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์