พระราชพงศาวดาร กรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) จดหมายรายวันทัพ, อภินิหารบรรพบุรุษ, และเอกสารอื่น
คำนำ
พระราชพงศาวดารซึ่งแสดงเหตุการณ์สมัยกรุงธนบุรีอันมีอยู่ในเอกสารเดิมที่ได้ตีพิมพ์ไว้ให้เห็นเป็นประจักษ์กระทั่งปัจจุบันนี้มีอยู่ 4 ฉบับด้วยกัน ในบรรดาพระราชพงศาวดารทั้ง 4 ฉบับนั้น ฉบับที่เขียนขึ้นหลังสุดคือ พระราชพงศาวดาร ฉบับในประชุมพงศาวดารพระราชหัตถเลขา โดยในคำนำของกรมศิลปากร” ภาคที่ 65 พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ปี พ.ศ. 2480 กล่าวถึงพระราชพงศาวดารฉบับนี้ไว้ว่า “พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เริ่มความตั้งแต่แรกสถาปนากรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา จนถึงสมัยกรุงรัตโกสินทร์ สุดความลง จ.ศ. 1152 (พ.ศ.2333) ได้ความในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระราชทานไปให้เซอร์ยอนเบาริง ที่ข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชำระพระราชพงศาวดารร่วมกับกรมหลวงวงศาราชสนิท ตั้งแต่ พ.ศ. 2398 เป็นต้นมา (ดูพระราชหัตถเลขารัชกาลที่ 4 รวมครั้งที่ 4 หน้า 16 หรือประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 62 หน้า 237) เข้าใจว่าการชำระครั้งนั้น คงจะได้ทรงกระทำมาถึงปีสุดรัชกาลของพระองค์ ซึ่งสำเร็จเป็นฉบับพระราชหัตถเลขา พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2445 นั้นแล้ว ที่จะเข้าใจดังนี้ก็เพราะมีคำว่าภูษามาลาเป็นที่สังเกตอยู่แห่งหนึ่ง แต่ก่อนมาเรียกคำนั้นว่า มาลาภูษา ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2411 รัชกาลที่ 4 ปรากฏในหมายรับสั่งต้นปีว่ามีพระบรมราชโองการห้ามมิให้เรียก มาลาภูษา ปีสุดท้ายของโปรดให้เปลี่ยนเรียกกลับกันว่า ภูษามาลา พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขส ก็ใช้คำว่า ภูษามาลา จึงสันนิษฐานว่าภายหลังเมื่อพระราชทานฉบับเริ่มทรงชำระให้แก่เซอร์ยอนเบาริงไปครั้งหนึ่งแล้ว ยังทรงพระอุตสาหะชำระเพิ่มเติมต่อมาจนถึงปีสุดรัชกาลของพระองค์ แต่เสียดายที่ไม่มีบานพะแนกบอกไว้ ชะรอยว่าการที่ทรงชำาระต่อๆ มานั้น จะยังไม่สมบูรณ์ตามพระราชประสงค์ก็อาจเป็นได้
พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานี้มีรายละเอียดมากกว่าฉบับอื่นๆ ทั้งในทางอภินิหารและโบราณคดี จึงเป็นที่นิยมอ้างอิงกันแพร่หลาย พระราชพงศาวดาร ฉบับนี้ใช้ พระราชพงศาวดารฉบับพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ เป็นต้นฉบับในการชำระเรียบเรียงตรวจสอบและแต่งเติมขึ้นใหม่ พระราชพงศาวดารฉบับพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ มีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ ฉบับกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชินรส, ฉบับหอสมุดแห่งชาติ ฉบับพิมพ์สองเล่ม เป็นฉบับเดียวกันทั้งสิ้น พระราชพงศาวดารฉบับหมอบรัดเลย์นี้ น่าจะเขียนและชำระขึ้นในรัชกาลที่ 4 หรือไม่เกินรัชกาลที่ 2 เป็นอย่างมากและใช้พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เป็นต้นฉบับในการชำระ ในคำนำประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 65 เล่มเดียวกันได้กล่าวถึงพระราชพงศาวดารฉบับหมอบรัดเลย์ไว้ว่า “พระราชพงศาวดารฉบับพิมพ์ 2 เล่ม หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ฉบับหมอบรัด- เล เริ่มความตั้งแต่แรกสร้างกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา ต่อมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร สุดความลงเพียง จ.ศ. 1154 (พ.ศ.2335) อันเป็นปีที่ 11 ในรัชกาลที่ 1 ไม่มีบานพะแนก แสดงว่าชำระหรือเรียบเรียงเมื่อไร เป็นแต่บอกไว้ที่ปกในเล่มต้นว่า “พระศรีสุนทรโวหารได้ช่วยชำระดูสอบบ้าง เห็นว่าถูกต้องอยู่แล้ว และมีข้อความในหนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัดมาแซกผสมอยู่หลายตอน จึงเป็นอันรู้ได้ว่าพงศาวดารฉบับนี้ได้มีการชำระกันมาแล้วอย่างน้อยก็ครั้งหนึ่งเมื่อรัชกาลที่ 4 ก่อนที่หมอบรัดเลจะได้นำพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนูมาศ (เจิม) เขียนและชำระขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1
โดยนักประวัติศาสตร์จำนวนหนึ่งลงความเห็นว่า บางส่วนของพระราชพงศาวดารโดยเฉพาะเนื้อความในช่วงก่อน พ.ศ.2320 เป็นอย่างน้อย น่าจะเขียนขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศนี้จึงเป็นเอกสารเดิมที่เป็นต้นฉบับให้พระราชพงศาวดารฉบับอื่นๆ ถือได้ว่าเป็นหลักฐานหลักในการตรวจสอบเหตุการณ์ในสมัยกรุงธนบุรีและพระราชประวัติของพระเจ้าตากสินมหาราช รวมทั้งเป็นหลักฐานที่ใช้ในการตรวจสอบพระราชพงศาวดารทั้งสองฉบับที่กล่าวมาข้างต้น พระราชพงศาวดารอีกฉบับหนึ่ง คือ พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับชิ้นสำคัญของบริติชมิวเซียม กรุงลอนดอน พระราชพงศาวดารฉบับนี้ ศาสตราจารย์ขจร สุข-พานิช ค้นพบต้นฉบับอยู่ในหอสมุดบริติชมิวเซียม กรุงลอนตอน ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.2501 โดยที่มาของเอกสารระบุว่า นาย J. Hurst Hayes Esq. เป็นผู้มอบต้นฉบับ พระราชพงศาวดารกรุงสยามฯ ให้แก่บริติชมิวเซียม กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 อาจารย์ขจรจึงได้ขอสำเนาไมโครฟิล์มเล่มต้นและเล่มปลายส่ง ให้กรมศิลปากรตรวจสอบ หลังจากตรวจสอบกรมศิลปากรจึงขอให้ อาจารย์ขจรช่วยสำเนาไมโครฟิล์มจากเอกสารต้นฉบับส่งให้กรมศิลปากรทั้งหมด รวม 30 เล่ม และมอบให้หอสมุดแห่งชาติเป็นหน่วยงานเก็บรักษาไมโครฟิล์ม ลักษณะต้นฉบับพระราชพงศาวดารกรุงสยามฯ เขียนด้วยหมึกดำในสมุดฝรั่งลายมือเป็นตัวบรรจง สันนิษฐานว่าคัดลอกมาจากต้นฉบับเดิมซึ่งเป็นสมุดไทย ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2507 พระราชพงศาวดารฉบับนี้ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ก้าวหน้า ในชื่อ พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม กรุงลอนดอน พระราชพงศาวดารกรุงสยามฯ แสดงเหตุการณ์ตั้งแต่สร้างกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งถึงสิ้นสุดสมัยกรุงธนบุรี เฉพาะเหตุการณ์ตั้งแต่กรุงแตกจนถึงสิ้นสมัยกรุงธนบุรี เหมือนกับฉบับพันจันทนุมาศเกือบทุกประการ แตกต่างกันในราย ละเอียดเพียงเล็กน้อยซึ่งได้มีการทำเชิงอรรถเอาไว้ตั้งแต่พิมพ์ครั้งแรก ความสัมพันธ์ระหว่างพระราชพงศาวดาร เฉพาะตอนกรุงธนบุรีของฉบับบริติช มิวเชียม กับฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) นั้น ยังไม่ปรากฎชัดว่าเป็นอย่างไร กล่าวคือเป็นไปได้ทั้งฉบับบริติชมิวเชียม คัดลอกมาจากฉบับพันจันทนุมาศ หรือฉบับพันจันทนุมาศคัดลอกมาจากฉบับบริติชมิวเซียม หรือทั้งสองฉบับคัดลอกมาจากเอกสารต้นฉบับเดียวกันที่สิ้นสูญไปแล้วหรือยังไม่มีการค้นพบพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) พิมพ์ครั้งแรกในชื่อ ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 65 พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ซึ่งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ โปรดให้พิมพ์แจกในงาน พระราชทานเพลิงศพ นายพันเอก พระยาสิริจุลเสวก(พัว จุลเสวก) ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480 โดยในคำนำของการพิมพ์ครั้งแรกกล่าวถึงที่มาของพระราชพงศาวดารไว้ว่า “พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ มีจำนวนสมุดไทยคามลำดับเป็น 22 เล่ม ขาดในระหว่างบ้างบางเล่ม เริ่มต้นแต่แรกสถาปนากรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาต่อมาจนสุดรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พอเริ่มความตอนต้นกรุงรัตนโกสินทรก็หมดฉบับ แต่สังเกตได้ว่ายังไม่สุดเรื่อง ตอนกรุงศรีอยุธยาพิมพ์แล้วนับเป็นประชุมพงศาวดารภาคที่ 64 ส่วนตอนกรุงธนบุรีพิมพ์ในเล่มนี้นับเป็นประชุมพงศาวคาร ภาคที่ 65 พระราชพงศาวดารฉบับนี้มีบานพะแนกบอกไว้ว่า ‘ศุภมัศดุ ศักราช 1157 ปีเถาะสัปตศก สมเด็จพระบรมธรรมมิกมหาราชาธิราชพระเจ้าอยู่หัว ผ่านถวัลย์ราช ณ กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา เถลิงพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงชำระพระราชพงศาวดาร ดังนี้ จุลศักราช 1157 ตรงกับ พ.ศ. 2338 เป็นปีที่ 14 ในรัชกาลที่ 1 ซึ่งมีข้อความตอนท้ายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเสือ (ดูประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 64 หน้า 378) กล่าวเป็นบานพะแนกเพิ่มเติมไว้อีกว่า เพียงนี้เรื่องพระเพทราชากับพระเจ้าเสือทำไว้แต่ก่อน บัดนี้สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้เจ้าพระยาพิพิธพิชัย กระทำเรื่อง พระนารายณ์เป็นเจ้ากับพระเพทราชา พระเจ้าเสือ พระบรมโกศ พระเจ้าพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ทำศักราชภัดกันไป ถ้อยคำตรงนี้น่าจะหมายความว่า เรื่องที่ชำระเรียบเรียงแต่ก่อนเฉพาะตอนกรุงศรีอยุธยาสุดลงเพียงสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเสือ พระบรมราชโองการให้ท่านเจ้าพระยาพิพิธพิชัยร้อยกรองเพิ่มเติมขึ้นอีก แต่มิได้เอาข้อความปรับปรุงเข้ากับที่แต่งไว้แต่ก่อนนั้น คงให้แยกอยู่ต่างหาก การทำเช่นนี้ให้ความรู้ในทางตำนานการชำระเรียบเรียงพระราชพงศาวดารเป็นอย่างดี จะได้ทราบถ่องแท้ว่าเรื่องแต่ก่อนมีอยู่เพียงไหน แต่งเติมต่อมาอีกเท่าไร มิฉะนั้นจะหาทางสันนิษฐานให้ทราบใกล้ความจริงได้ยาก
หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) มีข้อความเป็นหลักฐานแตกต่างจากฉบับหมอบรัดเลและฉบับพระราชหัตถเลขาหลายแห่ง เป็นประโยชน์มากในทางสอบสวนค้นคว้าประวัติศาสตร์สยาม ซึ่งผู้ได้รับคงยินดีอนุโมทนาทั่วกัน ในการพิมพ์ครั้งนี้ ฉบับหลวงที่อาศัยสอบทานมีไม่บริบูรณ์ จึงน่าจะมีการขาดตกบกพร่องอยู่บ้าง แต่กระนั้นก็ได้พยายามที่จะให้เรียบร้อยเป็นอย่างดีที่สุด ส่วนตอนไหนขาดเรื่องอะไรบ้างก็บอกไว้ด้วย ทั้งยังชี้ข้อความในหนังสือต่างๆ ที่แย้งหรืออนุโลมกัน ทำเป็นเชิงอรรถไว้อีกตามสมควร นอกจากพระราชพงศาวดาร ได้รวบรวมสำเนาท้องตรา พ.ศ. 2316 ถึง พ.ศ. 2317 และบัญชีช้างหลวง พ.ศ. 2319 ถึง พ.ศ. 2320 เท่าที่ยังมีฉบับเหลืออยู่มาเรียงไว้ด้วย เป็นหลักฐานประกอบพงศาวดารได้อีกหลายข้อ อนึ่ง เพื่อสะดวกแก่การค้นหานามและเหตุการณ์สำคัญเป็นต้น ได้ทำสารบาญค้นเรื่องไว้ท้ายเล่มนี้พร้อมเสร็จ กรมศิลปากรขออนุโมทนา กุศลธรรมิกพลี ที่เจ้าภาพสร้างสมบำเพ็ญเพื่ออุทิศมนุญญานิสงส์ อันพึงสำเร็จโดยฐานะสมควรแก่นายพันเอกพระยาสิริจุลเสวก(พัว จุลเสวก) เพิ่มพูนความสุขความเจริญยิ่งๆ ขึ้นในสัมปรายภพเบื้องหน้าต่อไป” (ลงวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2480)
ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 65 พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) นี้ได้รับการพิมพ์ในวาระต่อๆ มาอีกหลายครั้งซึ่งก็ได้ใช้ต้นฉบับเดิมเมื่อครั้งชำระ เพื่อตีพิมพ์ครั้งแรกมิได้มีการแก้ไขแต่อย่างใด
ในการจัดพิมพ์พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ครั้งนี้ ได้ใช้ต้นฉบับเดิมจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 65 รวมทั้งสำเนาท้องตรา บัญชีช้างหลวงและบัญชีค้นเรื่อง นอกจากนี้ยังได้ทำเชิงอรรถเทียบความกับฉบับบริติช มิวเซียม เพิ่มขึ้นมา ซึ่งผู้อ่านจะสามารถดูได้จากท้ายเรืองพงศาวดาร
เรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นที่สนใจของคนไทยทั่วไป โดยเฉพาะตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มาจนปัจจุบัน มีผู้นิยมเขียนถึงพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เป็นจำนวนมาก เรื่องราวเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ จึงมีมากมายพิสดารแตกต่างกันไปตามกาลเวลาและจริตบอกเล่าของผู้คน
พระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ได้รับการบอกเล่าสืบกันมามากกว่า 1 ชั่วอายุคน ดังนั้นเรื่องเล่าเหล่านี้จึงมีทั้งความจริงและจินตนาการปนเปกันจนยากจะแยกแยะ แต่ละเรื่องเล่าก็อ้างหลักฐานความจริงแตกต่างกันไป บางเรื่องเล่าที่กล่าวอ้างในทางไสยศาสตร์ก็ยังมี สาเหตุประการหนึ่งก็คือ เรื่องราวของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ นี้มีความเข้มข้นตั้งแต่ต้นจนสิ้นรัชสมัยของพระองค์ เริ่มตั้งแต่เหตุการณ์บ้านเมืองปั่นป่วนวุ่นวายหลังเสียกรุงฯ แก่พม่า ทรงตีฝ่าวงล้อมออกมาตั้งตัวและกลับไปเอกราชคืนและทำสงครามกับเมืองต่างๆ เพื่อรวบรวมแผ่นดินกลับมาให้เป็นปึกแผ่น จนกระทั่งสิ้นสุดรัชกาลด้วยการถูกกล่าวหาว่า “สัญญาวิปลาส” เรื่องราวที่ผันผวนในพระราชประวัติควบคู่ไปกับเหตุการณ์บ้านเมืองที่เป็นจลาจล จึงเป็นสิ่งที่ทั้งจับใจและสะเทือนใจคนไทยโดยทั่วไป โดยเฉพาะเหตุการณ์ในช่วงท้ายรัชกาลซึ่งเป็นเงื่อนงำมาถึงปัจจุบัน สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาค้นคว้าความจริงมากกว่าการอ่านฟังเพื่อความบันเทิงแล้ว การศึกษาพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ จากหนังสือที่เขียนจากจินตนาการของคนปัจจุบันหรือจากเรื่องเล่าที่ “กระซิบ” ต่อๆ กันมานั้น ย่อมไม่เพียงพอและโดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เป็นเงื่อนงำในตอนสิ้นสุดรัชกาล หากมีความจริงเป็นเป้าหมายแล้ว หนทางที่ดีที่สุดย่อมคือการอ่านเอกสารเดิมด้วยตนเองพร้อมกับวิจารณญาณ
หนังสือพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) แบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกนอกจากตัวพระราชพงศาวดารแล้ว ทั้งหมดคือกลุ่มเอกสารร่วมสมัยหรือใกล้สมัย เป็นกลุ่มเอกสารหลักที่เขียนขึ้นในสมัยกรุงธนบุรีและแสดงเหตุการณ์สมัยกรุงธนบุรีโดยตรง
ส่วนที่สองคือกลุ่มเอกสารสำคัญที่จำเป็นต้องใช้ในการตรวจเทียบกับเอกสารกลุ่มแรก ซึ่งแสดงเหตุการณ์พาดพิงสมัยกรุงธนบุรีอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจดหมายเหตุของพวกบาดหลวงฯ และจดหมายเหตุความทรงจำ ทั้ง 2 ฉบับเป็นเอกสารที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าพระราชพงศาวดาร
ส่วนสุดท้ายคือจดหมายเหตุที่แสดงเหตุการณ์ต่อเนื่องบางส่วนหลังจากสิ้นสมัยกรุงธนบุรีและลำดับสกุลวงศ์ของพระราชวงศ์กรุงธนบุรี ในการจัดพิมพ์ครั้งนี้ได้ทำคำชี้แจงไว้ทุกเอกสารเพื่อบอกกล่าวที่มาของเอกสาร อย่างไรก็ดีเอกสารทั้งหมดที่นำมาแสดงเพื่อประกอบกันเป็นเรื่องราวของกรุงธนบุรีและพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หลักฐานทั้งหมดที่ปรากฏ บรรณาธิการเพียงรวบรวมเอกสารชิ้นสำคัญที่ไม่อาจละเลย แต่ตระหนักว่ายังมีเอกสารและหลักฐานอื่นๆ อีกมาก ขึ้นอยู่กับความอุตสาหะของผู้อ่าน แม้กระนั้นก็หวังว่าเอกสารที่นำเสนอในหนังสือเล่ม นี้ จะเป็นวัตถุดิบให้ผู้อ่านได้ประกอบความจริงเกี่ยวกับกรุงธนบุรีและสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ได้ตามสมควร
หนูมาน กรรมฐาน
บางน้ำเปรี้ยว